การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมายถึง การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างฉลาด โดยใช้ให้น้อย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงระยะเวลาในการใช้ให้ยาวนาน และก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด รวมทั้งต้องมีการกระจายการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม ในสภาพปัจจุบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความเสื่อมโทรมมากขึ้น ดังนั้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงมีความหมายรวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย

การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถกระทำได้หลายวิธี ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนี้

1. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยทางตรง ซึ่งปฏิบัติได้ในระดับบุคคล องค์กร และระดับประเทศ ที่สำคัญ คือ

1) การใช้อย่างประหยัด คือ การใช้เท่าที่มีความจำเป็น เพื่อให้มีทรัพยากรไว้ใช้ได้นานและเกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่ามากที่สุด

2) การนำกลับมาใช้ซ้ำอีก สิ่งของบางอย่างเมื่อมีการใช้แล้วครั้งหนึ่งสามารถที่จะนำมาใช้ซ้ำได้อีก เช่น ถุงพลาสติก กระดาษ เป็นต้น หรือสามารถที่จะนำมาใช้ได้ใหม่โดยผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น การนำกระดาษที่ใช้แล้วไปผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อทำเป็นกระดาษแข็ง เป็นต้น ซึ่งเป็นการลดปริมาณการใช้ทรัพยากรและการทำลายสิ่งแวดล้อมได้

3) การบูรณซ่อมแซม สิ่งของบางอย่างเมื่อใช้เป็นเวลานานอาจเกิดการชำรุดได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีการบูรณะซ่อมแซม ทำให้สามารถยืดอายุการใช้งานต่อไปได้อีก

4) การบำบัดและการฟื้นฟู เป็นวิธีการที่จะช่วยลดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรด้วยการบำบัดก่อน เช่น การบำบัดน้ำเสียจากบ้านเรือนหรือโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ก่อนที่จะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ส่วนการฟื้นฟูเป็นการรื้อฟื้นธรรมชาติให้กลับสู่สภาพเดิม เช่น การปลูกป่าชายเลน เพื่อฟื้นฟูความ สมดุลของป่าชายเลนให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น

5) การใช้สิ่งอื่นทดแทน เป็นวิธีการที่จะช่วยให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติน้อยลงและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก การใช้ใบตองแทนโฟม การใช้พลังงานแสงแดดแทนแร่เชื้อเพลิง การใช้ปุ๋ยชีวภาพแทนปุ๋ยเคมี เป็นต้น

6) การเฝ้าระวังดูแลและป้องกัน เป็นวิธีการที่จะไม่ให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย เช่น การเฝ้าระวังการทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูลลงแม่น้ำ คูคลอง การจัดทำแนวป้องกันไฟป่า เป็นต้น

2. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยทางอ้อม สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

1) การพัฒนาคุณภาพประชาชน โดนสนับสนุนการศึกษาด้านการอนุรักษ์ทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้องตามหลักวิชา ซึ่งสามารถทำได้ทุกระดับอายุ ทั้งในระบบโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่างๆ และนอกระบบโรงเรียนผ่านสื่อสารมวลชนต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการอนุรักษ์ เกิดความรักความหวงแหน และให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง

2) การใช้มาตรการทางสังคมและกฎหมาย การจัดตั้งกลุ่ม ชุมชน ชมรม สมาคม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ตลอดจนการให้ความร่วมมือทั้งทางด้านพลังกาย พลังใจ พลังความคิด ด้วยจิตสำนึกในความมีคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่มีต่อตัวเรา เช่น กลุ่มชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของนักเรียน นักศึกษา ในโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่างๆ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร มูลนิธิโลกสีเขียว เป็นต้น

3) ส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ช่วยกันดูแลรักษาให้คงสภาพเดิม ไม่ให้เกิดความเสื่อมโทรม เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตในท้องถิ่นของตน การประสานงานเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักระหว่างหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับประชาชน ให้มีบทบาทหน้าที่ในการปกป้อง คุ้มครอง ฟื้นฟูการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

4) ส่งเสริมการศึกษาวิจัย ค้นหาวิธีการและพัฒนาเทคโนโลยี มาใช้ในการจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีสารสนเทศมาจัดการวางแผนพัฒนา การพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ให้มีการประหยัดพลังงานมากขึ้น การค้นคว้าวิจัยวิธีการจัดการ การปรับปรุง พัฒนาสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน เป็นต้น

5) การกำหนดนโยบายและวางแนวทางของรัฐบาล ในการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมทั้งในระยะสันและระยะยาว เพื่อเป็นหลักการให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องยึดถือและนำไปปฏิบัติ รวมทั้งการเผยแพร่ข่าวสารด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งทางตรงและทางอ้อม

10 ไอเดีย ช่วยโลกให้น่าอยู่ขึ้น

เราคงเคยได้ยินอยู่บ่อย ๆ ว่าปัจจุบันโลกเราผจญมลภาวะต่าง ๆ มากมาย และหลายสิ่งส่งผลกระทบให้เกิดภาวะมลพิษที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและการอยู่อาศัย  เราสามารถช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมบนโลกนี้ให้น่าอยู่ได้หลายวิธีโดยที่ไม่ต้องทุ่มเงินบริจาค  หรือออกไปเดินประท้วงตามท้องถนน มาดูวิธีง่าย ๆ ที่คุณสามารถเริ่มทำได้ในวันนี้เพื่อช่วยโลกของเราให้น่าอยู่ขึ้นกันค่ะ

1. ใช้หลอดประหยัดไฟ

การใช้หลอดไฟฟ้าแบบประหยัดไฟ LED นอกจากจะช่วยทำให้คุณประหยัดเงินในกระเป๋าเพราะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าการใช้หลอดนีออนและแบบหลอดไส้ ยังช่วยให้ประหยัดพลังงานและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย แถมคือ คุณยังปลอดภัยจากความร้อนของหลอดแบบเก่าด้วย

2. ปิดคอมพิวเตอร์เมื่อไม่ใช้งาน

การปิดคอมพิวเตอร์  แลปท็อป และอุปกรณ์อิเลคโทรนิคทุกชนิดเมื่อไม่ใช้งาน แทนที่จะเลือกการใช้  sleep mode สามารถช่วยให้ประหยัดพลังงานได้ถึง 40วัตต์/ชั่วโมงเลยล่ะ

3. ปิดก๊อกน้ำขณะที่แปรงฟันอยู่

ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราต้องเปิดน้ำทิ้งไว้ในขณะที่แปรงฟันอยู่การ คุณรู้มั้ยว่าการปิดก๊อกน้ำในขณะที่แปรงฟันอยู่นั้นสามารถช่วยประหยัดน้ำได้ถึง 5 แกลอน หรือประมาณ 20 ลิตร ต่อวันเลยนะ

4. ใช้กระดาษอย่างประหยัด

ใช้กระดาษอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุดพยามใช้กระดาษทั้งสองด้าน  อย่าใช้เพียงหน้าเดียวแล้วทิ้ง นอกจากจะเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์สำนักงานแล้วยังเป็นการช่วยต้นไม้ไม่ให้ถูกทำลายอีกด้วย

5. อย่าใช้เครื่องอบผ้า

เครื่องอบผ้าช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับคุณได้จริงอยู่แต่จะดีกว่ามั้ยถ้าการตากผ้ากลางแดดจะช่วยให้คุณประหยัดค่าไฟฟ้าและเป็นการถนอมเสื้อผ้าอีกด้วย

6. เลือกใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เชื่อหรือไม่ว่า พ่อ-แม่มือใหม่ใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเป็นจำนวนมากจนลูกน้อยจะสามารถเข้าห้องน้ำเองได้ ขยะจากผ้าอ้อมที่ใช้แล้วทิ้งบางยี่ห้อไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติและก่อให้เกิดมลพิษตามมาก หากเลือกซื้อผ้าอ้อมสำเร็จรูปครั้งต่อไปควรเลือกใช้แบบที่ย่อยสลายง่ายได้ด้วยนะคะ

7. กินผัก 1 วันใน 1 สัปดาห์

ควรเพิ่มเมนูผักลงไปในมื้ออาหาร 1 วันต่อสัปดาห์นอกจากจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงแล้วยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

8. ซักผ้าด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำเย็น

หลีกเลี่ยงการซักผ้าด้วยน้ำร้อนเพราะนอกจากจะเป็นการประหยัดไฟฟ้าแล้วยังช่วยถนอมเครื่องใช้ไฟฟ้าของคุณอีกด้วย

9. ใช้ทิชชู่ให้น้อยลง

โดยเฉลี่ยแล้วคนเราใช้ทิชชู่ประมาณ 6 แผ่นต่อวัน หรือประมาณ 2,200 ต่อปี ลองคิดดูค่ะว่าหากทุกคนบนโลกใช้ทิชชู่กันด้วยปริมาณเท่านี้จะต้องใช้ต้นไม้ทั้งหมดไปกี่ต้น ดังนั้นการใช้ทิชชู่น้อยลงจะช่วยเซฟต้นไม้และช่วยรักษ์โลกร้อนได้ด้วยนะคะ

10. เลือกใช้บรรจุภัณฑ์แบบแก้วที่รีไซเคิลได้

การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมา บางชนิดต้องใช้เวลาเกือบร้อย ๆ ปีในการย่อยสลายดังนั้นเราหันมาเลือกใช้บรรจุภัณฑ์แบบแก้วกันจะดีกว่าเพราะ นอกจากจะนำกลับไปรีไซเคิลได้แล้ว สามารถช่วยลดมลภาวะทางอากาศได้ถึง  20%  และมลภาวะทางน้ำได้ถึง 50% อีกด้วย

10 ทางเลือก ‘เลิก’ ใช้พลาสติก เพื่อ ‘รักษ์’ โลก

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หากใครติดตามข่าวสารผ่านนิตยสารหรืออินเทอร์เน็ตอยู่เป็นประจำ คงจะได้เห็นภาพของก้อนน้ำแข็งใหญ่กลางมหาสมุทรบนปกนิตยสารสารคดี National Geographic ฉบับเดือนพฤษภาคม ที่เมื่อมองให้ดีจะเห็นว่าก้อนน้ำแข็งก้อนนั้นคือถุงพลาสติกต่างหากที่ลอยอยู่กลางมหาสมุทร สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาพลาสติกที่ทั่วโลกควรจะหันมามอง กระทั่งตอกย้ำด้วยโปรยปกสั้นๆ ว่า

“Plastic or Planet? 18 billion pounds of plastic ends up in the ocean each year. And that’s just a tip of the iceberg.” (หนึ่งแสนแปดพันล้านปอนด์ คือน้ำหนักของขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่ทะเลในแต่ละปี และนั่นคือส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นเท่านั้น) ที่ตอกย้ำลงไปจังๆ ว่าถึงเวลาที่เราควรเริ่มลงมือทำอะไรสักอย่างอย่างจริงจังเสียที

เราเริ่มเห็นแคมเปญรณรงค์การเลิกใช้ถุงพลาสติกและหลอดพลาสติกจากองค์กรเพื่อสังคม เพื่อต้องการให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหา รวมถึงผู้ประกอบการในเครือห้างสรรพสินค้าเจ้าใหญ่อย่าง The Mall Group และ Central Group จัดโปรโมชั่นพิเศษสำหรับผู้ที่นำถุงผ้ามาเอง หรือแม้กระทั่งแจกหลอดสเตนเลสให้กับบุคคลทั่วไปเพื่อทดแทนการใช้หลอดพลาสติก เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการตื่นตัวต่อ ‘กระแส’ ต่อต้านการใช้พลาสติก ที่หากสัตว์ทะเลในมหาสมุทรพูดได้ คงอยากให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนแทนที่จะเป็นแค่กระแสเพียงชั่วครู่ชั่วคราว

จึงเป็นที่มาของ ที่ต้องการส่งต่อข้อความเกี่ยวกับการเลิกใช้พลาสติกให้ยังเป็นที่พูดถึงต่อไปเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่การตั้งใจเก็บขยะพลาสติกของพนักงานออฟฟิศทุกคนเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และนำมาใช้ถ่ายแฟชั่นทั้งบนปกและด้านในก่อนนำไปบริจาคเพื่อรีไซเคิลต่อ เพื่อต้องการให้เห็นว่า นี่แค่ออฟฟิสเดียวกับเวลาแค่ 1 สัปดาห์ เราได้ขยะมากขนาดไหน? รวมถึงพูดคุยกับหลายๆ ภาคส่วนคนทำกิจกรรมเกี่ยวกับการเลิกใช้พลาสติก รวมถึงการมองปัญหาขยะโดยรวมที่ไม่ใช่แค่เฉพาะพลาสติก ทำความเข้าใจแนวคิดแบบ Circular Economy หรือเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน และการทำความเข้าใจเรื่องการใช้พลังงานทดแทน จนเกิดเป็น 10 Ways to Save The World ที่เราสามารถเลือกทำเพื่อรักษาโลกของเราให้ปลอดจากภาวะขยะล้นโลกได้ เพราะสุดท้ายการรณรงค์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันจะไม่มีประโยชน์อะไรหากทุกคนยังมองไม่เห็นว่าการกระทำของเราในแต่ละวันมันส่งผลกระทบต่อปัญหาระดับโลกอย่างไร และมันคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลยหากทุกคนไม่ร่วมมือกันเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างนั่นจริงๆ สักที

1. Reduce and Reuse: Say No to Plastic

นอกเหนือจากสถิติเกี่ยวกับขยะพลาสติกในประเทศไทยแล้ว สิ่งที่น่าสนใจที่สุดอย่างหนึ่งซึ่งเราควรมองย้อนกลับมา นั่นก็คือความจริงที่ว่า เทคโนโลยีการผลิตพลาสติกนั้นเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่ถึง 100 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น สำนักข่าว BBC รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์สหรัฐพบว่าตั้งแต่โลกผลิตพลาสติกเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการบริโภค หรือคำนวนคร่าวๆ ราว 60-70 ปีที่ผ่านมานั้น โลกเราผลิตพลาสติกไปแล้วกว่า 8.3 พันล้านตัน ซึ่งครึ่งหนึ่งถูกผลิตขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และหากเรายังมีความต้องการใช้พลาสติกและผลิตที่อัตราเท่าเดิม เราจะมีขยะพลาสติกรวมกันถึง 12,000 ล้านตัน ภายในปี 2050 (อ้างอิง: งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย และ bbc.com)

เราชินกับการถูกสอนเรื่องการ Recycle สิ่งของเหลือใช้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ซึ่งอีกหนึ่ง Re- ที่สำคัญไม่แพ้กันและเป็นการเริ่มต้นที่ง่ายที่สุดนั้นคือ Reduce หรือการลดการใช้พลาสติกที่เราใช้อยู่ในแต่ละวัน เพราะที่ผ่านมาการพูดถึงนโยบายการ Recycle พลาสติกนั้นเป็นการแก้ปัญหาจากฝั่งอุปทาน (Supply) ของตลาดเท่านั้น ซึ่งจะยั่งยืนได้หากเราลดอุปสงค์ (Demand) ของการใช้พลาสติกตามกันไปด้วย

พลาสติกเป็นวัสดุที่ทนทานและสะดวกสบายก็จริง อย่างหนึ่งที่ต้องเข้าใจตรงกันก่อนคือ ในชีวิตประจำวันเราหลีกเลี่ยงได้ลำบากหากจะไม่เจอพลาสติกเลย สิ่งที่ควรลดคือพลาสติกที่เราเรียกมันว่า พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single Use Plastic) เช่นถุงพลาสติกและหลอดพลาสติก เพราะหลังจากการใช้งานมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นขยะทันที ซึ่งยืนยันได้จากตัวเลขสัดส่วนขยะในทะเลนั่นเอง ที่สัดส่วนก้อนใหญ่ที่สุดตกเป็นของเฉพาะถุงพลาสติก

องค์กร Zero Waste Europe ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนจากสหประชาชาติร่วมมือกับหลายๆ ภาคส่วน จัดตั้ง International Plastic Bag Free Day หรือวันงดใช้ถุงพลาสติกโลก ขึ้นในวันที่ 3 กรกฎาคมของทุกปี ซึ่งในปี 2561 นี้ถือเป็นปีที่ 9 ของการร่วมรณรงค์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อต้องการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาจากขยะพลาสติกที่มีปริมาณมากและสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งต่อแนวคิดและความเชื่อที่ว่าเราจะสามารถไปถึงจุดที่สร้าง Zero Waste จากพลาสติกได้ หากเราเลือกที่จะใช้ภาชนะทางเลือก (alternative container) และปฏิเสธการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว (Single-Use Plastic) (อ้างอิง: www.plasticbagfreeday.org )

ซึ่งในปีนี้ ห้างสรรพสินค้าหลายๆ แห่งของไทยอย่างเครือ The Mall Group รวมถึง Tops และ Central Food Hall ก็ออกมาประกาศงดแจกถุงพลาสติกเพื่อร่วมรณรงค์เรื่องการใช้ถุงพลาสติกในวันนี้ รวมถึงนโยบายในระยะยาวเพื่อร่วมรณรงค์ให้คนไทยหันมาพกถุงผ้าไปช้อปปิ้ง หรือการเลือกปฏิเสธการขอถุงพลาสติกเวลาไปซื้อของอีกด้วย และถ้าหากมีความจำเป็นต้องใช้ถุงพลาสติกจริงๆ อย่างน้อยที่สุดการนำกลับมาใช้ใหม่เรื่อยๆ (Reuse) ไม่ว่าจะเป็นกับถุงพลาสติก แก้วกาแฟ หลอด เพื่อลดความต้องการใช้ในครั้งถัดไป ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเช่นกัน

2. Find the Alternative Container

เมื่อสิ่งแรกที่ต้องทำคือ การลดความต้องการใช้ถุงพลาสติกและนำถุงพลาสติกเก่ามาใช้ใหม่ สิ่งถัดมาที่ง่ายและทำได้แบบไม่ต้องอธิบายมากคือ การหาภาชนะอื่นๆ ทดแทนการใช้ถุงพลาสติก ง่ายที่สุดที่เชื่อว่าทุกคนเคยได้ยินกันอยู่แล้ว นั่นก็คือการใช้ ‘ถุงผ้าลดโลกร้อน’ สโลแกนที่ฮิตต่อเนื่องในบ้านเราอย่างยาวนาน ซึ่งได้มาจากการโยงให้เห็นสายพานการเกิดของปัญหาว่า ถุงพลาสติกย่อยสลายยากและต่อให้การเผาไหม้ทำลายได้ แต่นั่นก็เท่ากับก่อให้เกิดสารพิษที่ทำลายชั้นโอโซน ส่งผลทำให้โลกร้อน เพราะฉะนั้นการใช้ถุงผ้าเพื่อลดขยะพลาสติก ก็เท่ากับลดโลกร้อนนั่นเอง ซึ่งนอกจากถุงผ้าแล้ว การหา Alternative Container หรือบรรณจุภัณฑ์ทางเลือก ยังรวมไปถึงกล่องบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากชานอ้อย กระดาษ ใยไผ่ ไบโอพลาสติก (แป้ง โปรตีนจากถั่ว ข้าวโพด) หรือมันสำปะหลัง ที่เราเริ่มหาได้ทั่วไปตามร้านค้าที่นำมาใช้แทนกล่องโฟม

ซึ่งความพยายามหาวัสดุทดแทนนี้เองทำให้ทุกวันนี้เรามีนวัตกรรมทดแทนใหม่ๆ มากมาย เช่น เราจะเห็นร้านอาหารและบาร์หลายๆ ที่เริ่มรณรงค์การไม่แจกหลอดพลาสติก (รวมถึงยักษ์ใหญ่อย่าง Starbucks ก็ออกมาประกาศในวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า จะงดใช้หลอดพลาสติกใน 28,000 สาขาทั่วโลกให้ได้ภายในปี ค.ศ.2020 นี้ — ที่มา: www.npr.org) แต่จะใช้หลอดสเตนเลส หลอดไม้ไผ่ หรือหลอดกระดาษ ที่ล้างเก็บทำความสะอาดได้หรือย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติมาเป็นทางเลือกแทน อย่างร้านอาหารรักสุขภาพ Broccoli Revolution ที่เริ่มต้นจากการเสิร์ฟก้านผักบุ้งแทนหลอด ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกหลอดอื่นๆ อย่างหลอดสเตนเลส หลอดแก้ว และหลอดไม้ไผ่ก็ได้ รวมถึงซื้อกลับบ้านเอาไว้พกติดตัวก็ย่อมได้เช่นกัน (สุขุมวิท ซอย 49 โทร. 09-5251-9799 www.facebook.com/broccolirevolution)

Better Moon café x Refill Station คือคาเฟ่หน้าตาน่ารักย่านอ่อนนุช ที่ต้องการส่งเสริมและรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเรื่องของขยะในเมือง ซึ่งนอกจากตัวคาเฟ่จะมีฟังก์ชั่นหลากหลาย ทั้งคาเฟ่และห้องพักแล้ว ไฮไลต์ของที่นี่คือการจำหน่ายสบู่ แชมพู น้ำยาต่างๆ ในรูปแบบที่ให้ผู้ซื้อพกขวดเก่ามาเติมเอง หรือหากไม่ได้พกขวดมาคุณสามารถใช้ขวดที่ทางร้านรับบริจาคจากลูกค้าที่ไม่ใช้แล้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อยๆ รวมถึงยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ทำจากวัสดุทางเลือกอย่างหลอดสเตนเลส แปรงสีฟันไม้ไผ่ และสบู่ก้อนทำมือ ให้เลือกซื้อ และเป็นการบอกให้ทุกคนรู้ว่า หากเราต้องการจะลดขยะจากการใช้ชีวิตประจำวันนั้น มันเป็นไปได้จริง (สุขุมวิท ซอย 77/1 โทร. 093-563-2265 www.facebook.com/bettermoonshop)

3. Recycle Everything You Can

อีกหนึ่งคำคลาสสิกถัดมาคือการรีไซเคิลทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณทำได้ เพื่อเป็นการลดความต้องการสินค้าใหม่ สิ่งที่เพิ่มมากกว่าการรีไซเคิลแบบปกติทั่วไปคือ ในแนวความคิดแบบ Circular Economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น การ ‘นำกลับมาใช้ใหม่’ ที่เดิมทีเราเรียกมันเหมารวมว่ารีไซเคิลนั้นถูกแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ Recycle หรือการนำกลับมาใช้ใหม่โดยคุณภาพไม่ลดลง ซึ่งตามความหมายของเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น จะหมายถึงประเภทแก้ว หรืออะลูมิเนียม ที่เมื่อนำกลับมาหลอมและหล่อเป็นชิ้นใหม่นั้นยังได้คุณภาพที่เทียบเท่าเดิม, Downcycle หรือการนำกลับมาใช้ใหม่โดยคุณภาพลดลง ซึ่งเท่ากับพลาสติกส่วนใหญ่ที่มีในปัจจุบัน และ Upcycle หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ที่เพิ่มฟังก์ชั่นมากกว่าเดิม ซึ่งจะอธิบายแยกเป็นข้อๆ ไป แต่สำหรับข้อที่ 3 นี้เราพูดถึงการรีไซเคิลในบริบทเดิมที่ว่าด้วยการคิดหยิบทุกสิ่งกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งนั่นรวมไปถึงการเลือกทิ้งสินค้าพลาสติกให้ถูกวิธีด้วย

นอกจากถังแยกขยะตามห้างสรรพสินค้าแล้ว ปีนี้เห็นที่จะมีแต่ Refun Vending Machine เท่านั้นที่เป็นสิ่งใหม่มาเพิ่มความสะดวกสบายในการแยกขยะพลาสติกให้ทุกคนทำได้ง่ายขึ้น เจ้าเครื่องนี้มากับคติพจน์ชัดเจนๆ ว่า “Only Wasted Time Cannot Be Recycled (มีแค่เวลาที่เสียไปแล้วเท่านั่นแหละที่นำกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้!)” ซึ่งตู้นี้ทำหน้าที่ในการรับขวดพลาสติก หรือกระป๋องอะลูมิเนียมที่เราใช้แล้วกลับคืนไปสู่ระบบเพื่อให้ทางบริษัทนำไปใช้ซ้ำต่อไป โดยวิธีการใช้งานคือแค่คุณนำขวดพลาสติกหรือกระป๋องอะลูมิเนียมหยอดลงในตู้ ตู้ก็จะตรวจสอบชนิดและคำนวณเป็นเงินออกมาคืนให้คุณ ถือว่าใช้งานง่าย มีประโยชน์ แถมยังส่งเสริมให้คนเก็บขวดพลาสติกและทิ้งให้ถูกต้องจากการจ่ายคืนกลับมาเป็นเงินอีกด้วย (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ refun.com)

ต้อง Why Not? คือโครงการที่จัดทำขึ้นโดยอาจารย์และนิสิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม หลักสูตรนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในโครงการนี้จะพูดถึงการแปรรูปพลาสติกที่ใช้แล้วในระดับครัวเรือนให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ที่ใช้ได้ รวมถึงไปจัดกิจกรรมกับน้องๆ นักเรียนในย่านเจริญกรุง และจัดงานนิทรรศการขึ้นในเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาอีกด้วย คล้ายๆ งาน DIY ที่เราเคยเห็นเป็นคลิปจากยูทู้บ แต่ความน่ารักของนิทรรศการนี้คือเราสามารถดาวน์โหลด ‘Cook Book’ หรือหนังสือให้ความรู้เกี่ยวกับพลาสติก รวมถึงวิธีการแปรรูปพลาสสติกในบ้านเป็นของใช้อื่นได้ผ่านทาง www.facebook.com/chowhybkk อีกด้วย

4. There’s a Thing Called Downcycle

เหตุผลข้อหนึ่งที่เมื่อพูดถึงการรีไซเคิลแล้วเราจะนึกถึงภาพของการเอาขวดน้ำมาทำกล่องใส่ดินสอเท่านั้น อาจเป็นเพราะว่าการนำพลาสติกกลับมาแปรรูปเป็นอย่างอื่นเพื่อใช้งานจริงๆ นั้นเกิดขึ้นในต้นทุนที่สูงมาก ซึ่งนั่นจึงตกเป็นหน้าที่ของบริษัทผู้ผลิตขวดน้ำ หรือบริษัทน้ำมันรายใหญ่ที่สามารถใช้วิธีการให้ความร้อนเพื่อแปรรูปพลาสติกกลายเป็นเม็ดพลาสติกและนำไปหลอมเป็นสิ่งใหม่ได้ (เช่นพลาสติก PET และ PE) ในที่นี้อย่างที่เกริ่นไปว่า นิยามของการ Recycle ตามแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นเท่ากับผลิตภัณฑ์ใหม่ต้องมีคุณสมบัติเทียบเท่าเดิม แต่การแปรรูปพลาสติกแบบนี้กลับให้ผลลัพธ์ที่คุณภาพไม่เท่าเดิม ซึ่งกรณีนี้คือการกระทำที่เรียกว่า Downcycle

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการเก็บขวดพลาสติกเก่าไปหลอมให้เกิดขวดพลาสติกขุ่นที่ราคาถูกลง แต่นอกเหนือจากนั้นยังมีการแปรรูปพลาสติกให้กลายเป็นเสื้อใยเพื่อใช้นำไปทอเป็นเสื้อผ้า อย่างเส้นใยโพลีเอสเตอร์ เป็นต้น ซึ่งขั้นตอนนี้ก็ยังถือเป็นการใช้วัสดุให้คุ้มค่าอยู่ เพียงแต่จะทำเกิดผลลัพธ์ที่กลับมาใช้อีกครั้งได้ยากขึ้น และก็กลายเป็นขยะในที่สุด ทั้งนี้จำนวนครั้งในการนำกลับมาแปรรูปซ้ำขึ้นอยู่กับพลาสติกแต่ละชนิด

5. And Also Upcycle

จริงๆ แล้วคำว่าอัพไซเคิลนั้นอาจจะเป็นคำที่ฟังดูใหม่ในข่าวจากการพัฒนาแนวความคิดแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนั่นแหละ แต่ถ้าหากคุณเป็นแฟนแบรนด์แฟชั่นรักโลกสัญชาติเยอรมันอย่าง Freitag คุณน่าจะคุ้นชินกับสิ่งนี้อยู่แล้วเป็นอย่างดี

การนำกลับมาใช้ใหม่แบบอัพไซเคิลนั้นมีความสร้างสรรค์ตรงที่ว่าเป็นการนำกลับมาใช้ใหม่ด้วยวิธีการหาฟังก์ชั่นใหม่ให้กับสิ่งที่เป็น Waste เหล่านั้น ซึ่งมาถึงตอนนี้เราไม่ได้พูดจำกัดอยู่ตรงแค่พลาสติกอีกต่อไป เพราะอะไรก็ตามที่ย่อยสลายยาก หรือยัง ‘เกิดมาแล้วใช้งานได้ไม่คุ้มค่า’ นั้นก็สามารถนำมาสร้างให้เป็นสิ่งใหม่ได้เสมอ เป็นการปลูกฝังแนว

ความคิดเกี่ยวกับการลดขยะอีกอย่างหนึ่งว่า วิธีการลดขยะก็คือการใช้ทรัพยากรทุกชนิดให้คุ้มค่าที่สุดก่อนปล่อยให้มันกลายไปเป็นขยะนั่นเอง

ซึ่งจากที่เมื่อพูดถึงหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียนไปนั้น การจำแนกการนำกลับมาใช้ให้หลากหลายและเกิดประโยชน์จริงแบบนี้สามารถทำให้เรามองปัญหาได้กว้างขึ้นอีกนิดในแง่ของการเลือกกำจัด เช่น เราอาจจะเลือกวิธีการอัพไซเคิลสำหรับวัสดุหรือพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้เลย เพราะแทนที่จะทิ้งมันไปก็เลือกใช้สิ่งนั้นมาสร้างสินค้าใหม่แทนเป็นต้น

6. Don’t Waste Your Food

จากสถิติที่เรายกขึ้นมาเมื่อตอนต้นว่าสัดส่วนของขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นกินสัดส่วนถึงร้อยละ 20 ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด ความจริงอีกด้านหนึ่งก็คือ กว่าร้อยละ 50 นั้นตกเป็นของขยะที่้เราเรียกว่าขยะอินทรีย์ หรือขยะที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอาหารนั่นเอง ซึ่งมาถึงตรงนี้ที่แนวความคิดแบบ Circular Economy ไม่ได้มุ่งจำกัดเฉพาะขยะประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างที่กำลังเกิดเป็นกระแสทั่วโลกเช่นเดียวกันก็คือการสร้างความตระหนักรู้รวมถึงวิธีการแก้ปัญหา และลดขยะที่เกิดจากอาหาร (Food Waste) อย่างยั่งยืน (ที่มา: http://www.pcd.go.th/Info_serv/File/PPT20161130/20161130_19.pdf)

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีงานสัมมนาเรื่องเกี่ยวกับขยะในอุตสาหกรรมอาหารที่พูดถึงหัวข้อนี้ถึงสองงาน เริ่มจากงานเสวนาเรื่อง “วิกฤตขยะอาหาร: ความจริงที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก (Food Waste: an Unpalatable Truth)” จัดโดยเทสโก้ โลตัส และสำนักข่าวไทยพับลิก้า ในวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา โดยภายในงานชี้ให้เห็นถึงสถิติโลกที่น่าสนใจว่า
“1 ใน 3 ของอาหารจากทั่วโลกถูกทิ้งกลายเป็นขยะ ในขณะที่ 11% ของประชาการโลกกำลังต่อสู้กับความอดอยาก (ที่มา: thaipublica.org) ซึ่งขยะที่เกิดขึ้นส่งผลกลายเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่บรรยากาศโลก”

ถัดมาคืองาน {Re} Food Forum ว่าด้วยเรื่องของ Sustainability in Food Industry ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเวลาใกล้กัน คือ 19-20 มีนาคม นำโดยเชฟโบ-ดวงพร ทรงวิศวะ เชฟเจ้าของร้านอาหารไทย Bo.lan ซึ่งก่อนหน้าที่งานจะจัดขึ้น GQ ได้มีโอกาสคุยกับเชฟโบเกี่ยวกับเรื่องขยะที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอาหาร และเชฟโบได้เล่าให้ฟังถึงกระบวนการที่ใช้กับทางร้านว่า ปณิธานตั้งแต่แรกเริ่มของโบลานคือการทำร้านอาหารที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด ซึ่งนั่นเท่ากับการลงลึกถึงแหล่งเลี้ยงแหล่งผลิตของวัตถุดิบแต่ละชนิดว่าจะต้องไม่ใช้สารเคมี ซื้อปลาจากชาวบ้านที่มีการทำประมงยั่งยืน การลดแพ็กเกจจิ้งที่เกิดขึ้นระหว่างขนส่ง โดยทางร้านจะนำแพ็กเกจจิ้งไปเองเพื่อไม่ก่อให้เกิดขยะ รวมถึงการหมุนเวียนทรัพยากรภายในร้าน เช่นการนำน้ำมันที่เหลือจากการประกอบอาหารมาทำเป็นสบู่ล้างมือเพื่อใช้ในร้าน

ซึ่งนอกจากกิจกรรมที่เชฟโบทำขึ้นในร้านจะเป็นเหมือนภาคปฏิบัติของสิ่งที่งาน {Re} Food Forum พูดถึงในงานแล้ว หนึ่งกิจกรรมที่เชฟไทยร่วมกันทำอีกอย่างที่น่าสนใจมากคือ การนำ Food Waste จากมื้อเย็นหลังเสวนาวันแรกจบลง มาประกอบเป็นมื้อกลางวันของงานเสวนาวันถัดไป เป็นการแสดงออกถึงการใช้วัตถุดิบให้คุ้มค่า ที่ชวนให้นึกถึงการทำกับข้าวแบบ Home Cooking ในสมัยก่อนที่หากใครโตมากับครอบครัวที่ทำกับข้าวเองแล้วละก็ น่าจะมีคุณพ่อคุณแม่ ที่ใช้เทคนิคนี้อยู่บ่อยๆ เป็นแน่

ภาพตัดมาเมื่อพูถึงการจัดการระบบทรัพยากรในร้านอาหารอย่างยั่งยืน คำว่า Farm-to-Table กลับกลายเป็นคำตอบชอบเชฟหลายๆ คน เช่นเชฟและเจ้าของร้านชาวอินเดีย Deepanker “DK” Khosla แห่งร้าน Haoma ที่สร้างระบบนิเวศเล็กๆ บริเวณสวนหน้าร้านที่ปลูกพืชผักสด รวมถึงบ่อปลาที่ทำหน้าที่กำจัดเศษอาหารที่นำไปแปรรูปเป็นอาหารปลาและนำมาปลามาใช้ประกอบอาหาร รวมถึงการหมักดองของต่างๆ เพื่อเป้าหมายที่ต้องการเป็นร้านอาหาร Zero Waste ร้านแรกให้ได้

เช่นเดียวกับร้านอาหารทะเล Vapor แห่งหมู่บ้านนิชดาธานี ของตั้ม-ณัฐกร แจ้งเร็ว อดีตบาร์เทนเดอร์ (ที่ก็ยังจับเชคเกอร์อยู่เป็นครั้งคราว) ที่ด้วยความเป็นคนชอบตกปลาเอาซะมากๆ จึงหันมาเอาดีทางด้านการตกปลาและออกแบบร้านอาหารแบบ Zero-Waste ที่ตั้มควบคุมเองตั้งแต่การออกไปหาวัตถุดิบ ขนส่ง มาจนถึงการใช้พื้นที่ภายในหมู่บ้านทำสวนผัก สมุนไพร รวมถึงทำฟาร์มไก่เลี้ยงแบบปล่อย (Free Range Chicken) ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของอาหาร จากอาหารเหลือเวียนเป็นปุ๋ยและอาหารสัตว์ ลดการใช้แพกเกจจิ้งแบบ Single Use ด้วยการลำเลียงขนส่งด้วยตัวเอง กลายเป็นอีกหนึ่งร้านที่สามารถลดการเกิดขยะได้ใกล้เคียงศูนย์ที่สุดอีกร้านหนึ่ง (ซึ่งนอกจาก Vapor แล้ว ตั้มยังวางแผนทำร้านอาหารสไตล์ Chef’s Table ร้านใหม่อีกด้วย ซึ่งสามารถติดตามรีวิวร้านฉบับเต็มได้เร็วๆ นี้)

Sustainability เป็นถือเป็นหัวข้อที่ไม่ใช่แค่เป็นที่พูดถึงในวงการอาหารอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในวงการบาร์เทนเดอร์ก็มีแนวโน้มไปในทางเดียวกัน เราจะเห็นกันอยู่เรื่อยๆ ว่าเทรนด์เครื่องดื่มในปัจจุบันนี้แทบจะแยกไม่ออกกับอาหาร นั่นก็เป็นเพราะว่าเมื่อโลกหันมาให้ความสนใจวัฒนธรรม Fine Drinking มากขึ้น ทำให้เหล่าบาร์เทนเดอร์ผสมผสานเทคนิคการครัวมาปรุงให้ค็อกเทลแก้วคุ้นรสดีขึ้นกว่าเคย ซึ่งในบาร์เองก็เกิดขยะไม่ต่างจากร้านอาหาร ในปีนี้เราเห็นกลุ่มบาร์เทนเดอร์ออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์เรื่องการไม่ใช้หลอดพลาสติก (เพราะถือเป็นขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นมากที่สุดจากบาร์) พร้อมให้ความรู้ต่างๆ ในนาม Siam Strawless (สามารถติดตามข่าวได้ทาง www.facebook.com/siamstrawless) เปลี่ยนมาไม่แจกหลอดเลยหรือใช้หลอดทางเลือก แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ทั้งหมด

GQ Thailand ได้คุยกับกอล์ฟ-กิติบดี ช่อทับทิม จาก Back Stage Cocktail Bar และโจอี้-กฤษ ประกอบดี จาก Tropic City สองบาร์เทนเดอร์และสองผู้เข้าแข่งขันรายการ Diageo World Class 2018 ซึ่งหนึ่งใน 4 จากโจทย์รอบสุดท้ายคือภารกิจการสร้างารรค์ค็อกเทลภายใต้ธีม Thai Eco & Sustainability ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะการแข่งขัน แต่ในทุกๆ วันของการทำงาน ทั้งสองบาร์เทนเดอร์ที่ถนัดเรื่องการถนอมอาหารและการหมักดองอยู่แล้ว โดยการมองให้วัตถุดิบ 1 ชนิด สามารถใช้งานได้มากกว่า 1 ประโยชน์ รวมถึงการศึกษาว่าอะไรคือขยะที่แท้จริงที่เกิดขึ้นในบาร์ และหาวิธีการแก้ไขปัญหากับมัน (อ่านเรื่องของการหมักดองเพื่อลดขยะของทั้งสองบาร์เทนเดอร์ได้ในคอลัมน์ Ferment is the New Black หน้า TK)
มาถึงตรงนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าการลดขยะประเภทที่เป็นอาหารนั้นทำได้อย่างสร้างสรรค์และหลากหลายไม่ต่างอะไรกับขยะชนิดอื่น คีย์สำคัญอยู่ที่การศึกษาวิธีการเพื่อใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบ 1 ชนิด ให้ใช้ได้มากกว่า 1 ประโยชน์ เท่านั้นเอง

7. Redistribute: Our Waste Might Worth for Someone

มาถึงตรงนี้เราไม่อยากให้ติดกับภาพว่า ‘ขยะ’ หมายถึงของสกปรกเน่าเสียซะทีเดียว เพราะนิยามของคำว่าขยะในตอนนี้นั่นหมายถึงสิ่งที่เราอาจจะไม่เป็นที่ต้องการ นำกลับมาใช้ประโยชน์ที่เราต้องการไม่ได้ ซึ่งเหล่านั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นของเหลือของเสีย บางครั้งขยะก็มาในรูปแบบของสิ่งที่เราไม่ได้ใช้ประโยชน์แต่อาจจะมีประโยชน์กับคนอื่นมากกว่า

เช่นเดียวกับการรับบริจาคถุงผ้าตามโรงพยาบาล ที่มีเพื่อจุดประสงค์ต้องการลดใช้ถุงพลาสติกอีกที และเมื่อคุณมีถุงผ้ามากเกินไปจนไม่ได้ใช้งาน แทนที่จะปล่อยถุงผ้านอนอยู่บ้านเฉยๆ ก็นำมาบริจาคให้แพทย์ใช้จ่ายยาให้ผู้ป่วยกลับบ้านไม่ดีกว่าหรือ

8. Segregate Your Waste

การแยกขยะเป็นอีกหนึ่งข้อสำคัญที่หากเมื่อพูดถึงเรื่องของปัญหาขยะแล้วคงจะไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะการแยกขยะก็เป็นอีกหนทางง่ายๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการขยะโดยรวม โดยที่ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่าขยะทั้งหมดที่เกิดจากกิจวัตรประจำวันของเรานั้นสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภทหลักคือ

1. ขยะที่ย่อยสลายได้ (ถังสีเขียว): ขยะประเภทนี้ได้พวกเศษอาหาร ขยะอินทรีย์ที่เกิดจากธรรมชาติ ตามชื่อก็คือสามารถนำไปผ่านกระบวนการทำเป็นปุ๋ยได้ ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

2. ขยะรีไซเคิล (ถังสีเหลือง): คือขยะที่มาในรูปแบบของวัสดุเหลือใช้ ที่เราอาจจะไม่ใช้แล้วแต่ตัวขยะสามารถถูกนำไปผ่านกระบวนการเพื่อนำกลับมาใช้ได้ใหม่ เช่น แก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะ หรือแม้แต่ยางรถยนต์

3. ขยะทั่วไป (ถังสีน้ำเงิน): ขยะประเภทนี้คือขยะประเภทถุงพลาสติก หลอดพลาสติก ซองขนมในประเภทที่ย่อยสลายยากและไม่คุ้มต่อการนำไปรีไซเคิล

4. ขยะอันตราย (ถังสีส้ม): ขยะประเภทนี้คือขยะพิเศษที่จะต้องมีการจัดเก็บแยกเพื่อทำไปทำลายอย่างถูกวิธีเท่านั้น เช่น หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย สารเคมี และอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ในประเทศที่มีระบบการแยกขยะและจัดเก็บขยะที่เป็นระเบียบนั้น อาจจะมีการแบ่งแยกเก็บขยะแต่ละประเภทเป็นรายวัน ซึ่งหากครัวเรือนและผู้ประกอบการแยกขยะให้ถูกตามประเภทก็จะยิ่งส่งผลให้การทำลาย หรือการนำขยะกลับมาใช้ใหม่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในสถานการณ์จำลองนั้นเมื่อเทียบกับสถานการณ์บ้านเรา จะเห็นได้ว่าหลายจุดแค่จะหาถังสีให้ครบยังเป็นเรื่องยาก ซึ่งนั่นก็ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของคนในสังคมไม่แยกขยะเป็นนิสัย ผลที่ตามมาคือรายงานจากกรมควบคุมมลพิษรายงานว่า ในประเทศมีจุดกำจัดขยะมูลฝอยจำนวน 2,490 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้มีแค่ 466 แห่งเท่านั้นที่ดำเนินการกำจัดขยะอย่างถูกต้อง และนั่นส่งผลให้เรามีกองขยะเหลือตกค้างที่กำจัดไม่สำเร็จ แถมด้วยปริมาณขยะที่มากขึ้นในแต่ละวันนั้นมีอัตราส่วนที่ล้นเกิน ‘คนแยกขยะ’ ไปไกล ทำให้หากเราคิดที่จะแก้ไขปัญหาขยะจริงคงจะต้องแก้กันทั้งระบบ

แต่สิ่งที่ง่ายที่สุดที่ทุกคนสามารถเริ่มต้นได้นั้น คือฝึกแยกขยะให้เป็นนิสัย เพราะอย่างน้อยที่สุดการแยกขยะยังทำให้เราสำรวจการบริโภคของตัวเองในแต่ละวัน ว่าสร้างขยะมากแค่ไหน อะไรบ้างที่อย่างเพิ่งทิ้งเลย และควรนำกลับมาใช้ อีกทั้งยังทำให้การลดการผลิตขยะลดน้อยลงได้อีกด้วย

 (ที่มา: คู่มือแนวทางการลด คัดแยก และใช้ประโยชน์ขยะมูลฝอย จัดทำโดยกรมควบคุมมลพิษ)

9. Know Your Plastic ชนิดของพลาสติก

อีกหนึ่งความรู้ที่เราสามารถนำมาปรับใช้กับพฤติกรรมการบริโภค คือการรู้จักพลาสติกแต่ละชนิดรวมถึงผลกระทบของมันต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า การเลิกใช้พลาสติกแบบหักดิบไปเลยนั้นอาจจะเริ่มทำได้ยาก แต่อย่างน้อยเลือกใช้แค่พลาสติกที่รีไซเคิลได้เท่านั้นก็ช่วยโลกได้มากแล้ว

1. PET หรือ PETE (Polyethylene Terephthalate): พลาสติกประเภทนี้เราน่าจะคุ้นกันดีในนามขวด PET หรือคือขวดน้ำต่างๆ ขวดน้ำอัดลม ซอส มีอันตรายปานกลาง แต่สามารถรีไซเคิลได้

2. HDPE (High Density Polyethylene): หรือแกลลอนนม ถุงพลาสติก ขวดแชมพู ขวดน้ำยาล้างจาน มีอันตรายน้อย

3. PVC (Polyvinyl Chloride): ขวดน้ำยาต่างๆ ของเล่น พลาสติกประเภทนี้ส่งผลกระทบที่อันตรายต่อสิ่งแวดล้อมมาก

4. LDPE (Low Density Polyethylene): หรือหลอดยาสีฟัน ถุงขนม ถุงขยะ ประเภทนี้มีอันตรายน้อย

5. PP (Polypropylene): ขวดน้ำยาต่างๆ ฝาขวดน้ำ หลอดพลาสติก แก้วพลาสติก ประเภทนี้มีอันตรายน้อย

6. PS (Polystyrene): แก้วโฟม จานโฟม กล่องโฟม ประเภทนี้มีอันตรายมาก

7. Other: พลาสติดประเภทอื่นๆ ที่ไม่มีชื่อประเภทเฉพาะอย่างแว่นกันแดด กระติกน้ำ ขวดนม ฯลฯ และพลาสติกประเภทนี้ก็อันตรายมากเช่นกัน

ซึ่งพลาสติกทั้ง 7 ประเภทนี้มีคุณสมบัตินำมารีไซเคิลใหม่ได้ทั้งนั้น แต่ต้นทุกการหลอมใหม่นั้นสูง จึงมีแค่ไม่กี่ชนิดอย่าง PET และ PVC ที่นิยมนำมาหลอมใหม่ แต่บางชนิดเช่นถุงพลาสติกนั้น อาจฟังดูเหมือนไม่มีสารพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่การไม่ย่อยสลายของมันกลับก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางอ้อม อย่างการไปอุดตันในกระเพาะอาหารของสัตว์ทะเลนั่นเอง

 (ที่มา: คู่มือแนวทางการลด คัดแยก และใช้ประโยชน์ขยะมูลฝอย จัดทำโดยกรมควบคุมมลพิษ)

10. Energy of the Future

นอกจากปีนี้งานสัมมนาประจำปี Movin’On Summit by Michelin จะยกเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้นมาพูดแล้ว อีกหนึ่งหัวข้อที่สำคัญ (และด้วยความที่เป็นบริษัทยานยนต์) คือการหาวิธีการจะทำอย่างไรให้การสัญจรเป็นไปได้อย่างยั่งยืน (Sustainable Mobility) ซึ่งจากสิ่งที่ได้คุยกับคุณท็อป หนึ่งในผู้เข้าร่วมงานสัมมนา เราสามารถสรุปความรู้เพื่อนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ออกเป็นสองแง่ เริ่มจากการมองหาวัสดุทดแทนที่ยั่งยืน ข้อนี้ค่อนข้างเป็นข่าวดีด้วยในแง่ของผู้บริโภค เพราะอย่างน้อยเราได้ทราบว่าบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์นั้นมุ่งพัฒนายางที่ทนทานย่อยสลายได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับผู้ประกอบการณ์อื่นๆ เหมือนกับเศรษฐกิจหมุนเวียนจะเป็นทฤษฎีที่ออกมาบอกเราว่า หลังจากที่รู้แล้วว่าพลาสติกชนิดไหนย่อยสลายไม่ได้ ก็ลดการผลิตลงหรือได้เวลาพัฒนาคุณภาพของพลาสติกให้ออกมาแล้วทำลายได้ด้วยในอนาคต

ประเด็นถัดมาคือ การลดการใช้เชื้อเพลิงประเภท Fossil Fuel เช่นน้ำมัน และหันมาใช้พลังงานจากสิ่งทดแทนเช่น นิวเคลียร์ แดด ลม น้ำ แทน ซึ่งนั่นเป็นที่มาของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่คาดว่าภายในปีหน้านี้จะมีเข้ามาตีตลาดบ้านเรามากขึ้น เป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมของตัวเองให้หันมาใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น และสุดท้ายเราก็ทำร้ายโลกกันน้อยลง

10 เคล็ดลับ สร้างความปลอดภัยในที่ทำงาน

การทำให้สถานที่ทำงานปลอดภัยนั้น ย่อมจะต้องมีการลงทุนลงแรงกันบ้าง วันนี้ขอแนะนำเคล็ดลับทำให้เกิดความปลอดภัยในที่ทำงาน 10 ข้อ ดังนี้
1. ดูแลรักษาให้พื้นที่ปฏิบัติงานมีความสะอาดอยู่เสมอ

ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การนำอันตรายต่างๆ ออกจากพื้นที่ปฏิบัติงานเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่น่าทำงานให้แก่พนักงานของคุณด้วย

2. ถ้าเป็นไปได้ ให้ใช้ระบบป้องกันและการควบคุมด้านวิศวกรรมแทนการอาศัยแต่เพียงอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) เพียงอย่างเดียว

เนื่องจากอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลนั้นเป็นสิ่งที่ทำการตรวจสอบ และกำกับให้มีการปฏิบัติจริงได้ยากและเมื่อสวมใส่แล้วทำให้รู้สึกไม่ค่อยสบายตัวเท่าใดนัก ก่อนอื่นคุณจะต้องค้นหาวิธีป้องกันการรับสัมผัสอันตรายของพนักงานให้ได้เสียก่อน จำไว้ว่าพนักงานของคุณจะสามารถปฏิบัติงานได้ผลผลิตมากขึ้นหลายเท่าตัวเลยทีเดียวถ้าหากว่าพวกเขารู้สึกสบายตัวในระหว่างการทำงาน

3. ให้สันนิษฐานไว้เสมอว่าพนักงานของคุณต้องการทำงานอย่างปลอดภัย และคุณก็จะต้องหยิบยื่นโอกาสดังกล่าวให้แก่พวกเขา

4. ระบุคำแนะนำในการปฏิบัติงานให้ชัดเจน

ทำให้แน่ใจว่าพนักงานของคุณทุกคนรู้ถึงวิธีการที่ถูกต้องในการทำในสิ่งที่คุณคาดหวังจากพวกเขา อย่าเพียงแต่บอกเฉพาะสิ่งต่างๆ ที่ห้ามพวกเขาทำเท่านั้น นอกจากนี้ คุณจะต้องระบุถึงคำแนะนำด้านความปลอดภัยไว้ในระเบียบขั้นตอนการปฏิบัติงานทุกฉบับที่คุณจัดทำขึ้นด้วย

5. อย่าหมกมุ่นเพียงเฉพาะสถานการณ์สมมติที่เป็นสถานการณ์เลวร้ายที่มีมากมายหลากหลายกรณี

แต่แนะนำให้คุณเน้นไปที่สิ่งหรือสถานการณ์ที่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นมากกว่า มีความรุนแรงมากกว่า (ความเสี่ยงสูงกว่านั่นเอง) วิธีการคือ ตัวคุณเองสามารถทำการป้องกันมิให้มีอุบัติการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เกิดซ้ำอีกได้ ซึ่งก็จะหมายความว่าคุณจะต้องจัดทำบันทึกอุบัติการณ์ต่างๆ ไว้อย่างถูกต้องแม่นยำแม้ว่าสถิติอุบัติการณ์นี้อาจจะทำให้ดูแย่ในสายตาผู้บริหารที่เป็นผู้บังคับบัญชาของคุณก็ตาม

6. คุณจะต้องรักพนักงานของตัวเองให้มาก

ความรักนี้หมายถึงการที่คุณจะต้องดูแลเอาใจใส่พนักงานของตัวเองและบอกให้พวกเขารู้ด้วยว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ ถ้าเครื่องจักรเครื่องหนึ่ง อยู่ในสภาพไม่ปลอดภัย ก็ให้ปิดหรือห้ามใช้เครื่องนั้นเสียก่อนที่จะมีใครได้รับบาดเจ็บ

7. ใช้เวลาศึกษารายละเอียดงานต่างๆ ที่พนักงานของคุณทำ

แม้ว่าเมื่อก่อนคุณจะเคยทำงานดังกล่าวมาเช่นกันก็ตาม แต่มันก็มีความเป็นไปได้ที่วิธีการทำงานเดียวกันนี้จะมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน คุณจะต้องมองไปที่สิ่งที่พนักงานกำลังทำอยู่จริงและเปรียบเทียบกับวิธีการทำงานที่ระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในระเบียบขั้นตอนการปฏิบัติงาน ซึ่งถ้ามีความแตกต่างกัน ไม่เหมือนกันระหว่างการปฏิบัติจริงกับสิ่งที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น ให้ค้นหาให้ได้ว่าเพราะเหตุใด และอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง ปลอดภัยกว่ากัน

8. ดูแลรักษาเครื่องจักรต่างๆ ให้อยู่ในสภาพการทำงานที่ดีเสมอ

หลายครั้งที่พนักงานมักตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายเนื่องจากเครื่องจักรชำรุดหรือสึกหรอ ในกรณีการสึกหรอนั้น เครื่องจักรอาจจะค่อยๆ เกิดการสึกหรอและตัวพนักงานเองก็คิดว่านั่นมันเป็นเรื่องปกติ ทั้งนี้ แผนการบำรุงรักษาเครื่องจักรเชิงป้องกันที่มีประสิทธิภาพนั้นจะนำมาซึ่งแผนการด้านความปลอดภัยในภาพรวมที่มีประสิทธิภาพเช่นกัน

9. หลีกเลี่ยงอันตรายต่างๆ ที่ไม่จำเป็น

คุณควรมองหาวัสดุสิ่งของหรืออุปกรณ์ใหม่ๆ ที่จะช่วยลดอันตรายต่างๆ ที่พนักงานของคุณอาจได้รับสัมผัส

10. ดูแลรักษาพื้นที่ปฏิบัติงานให้สะอาด (ดูเคล็ดลับข้อ 1 ข้างต้น)

การรับสัมผัสสารและสภาพอันตรายต่างๆ นั้นเป็นสิ่งที่สามารถทำให้ลดน้อยลงได้อย่างมากโดยวิธีการง่ายๆ นั่นคือ การทำให้พื้นที่ปฏิบัติงานมีความสะอาดอยู่เสมอ และผลพลอยได้ที่จะเกิดขึ้นก็คือ พนักงานมีประสิทธิภาพในการทำงานและมีขวัญกำลังใจในการทำงานที่ดีขึ้นอย่างมากแม้หากจะไม่ได้เน้นเรื่องให้เป็นแรงจูงใจเพื่อให้เกิดความปลอดภัยเพียงอย่างเดียวก็ตาม

***********************

ที่มาของข้อมูล : ชมรมอุตสาหกรรมบางปู

มาตรฐานของความปลอดภัย ภายในโรงงานอุตสาหกรรม

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยในปัจจุบันนั้น มีแนวโน้มในการขยายตัวและพัฒนาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากการจัดตั้งนโยบายส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของรัฐบาล ที่มีการดำเนินการเริ่มต้นอย่างจริงจังตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 อีกทั้งยังมีสาเหตุอันเนื่องมาจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตในประเทศ ที่ได้พัฒนาจากเศรษฐกิจภาคเกษตรกรรมให้เป็นเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมและมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมสามารถขยายตัวไปยังภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศได้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาในด้านการใช้ประโยชน์จากแรงงานมนุษย์ ซึ่งสามารถเห็นได้จากการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นในหลายๆจังหวัดของประเทศไทย ทำให้เกิดกำไรและผลผลิตแก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งสามารถสร้างความก้าวหน้าให้แก่เศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศชาติได้

จากการที่ผู้คนจำนวนมากในประเทศไทย มีการดำเนินชีวิตเกี่ยวข้องกับงานในโรงงานอุตสาหกรรม งานสร้างเหมืองแร่ หรืออาจจะเป็นสถานประกอบการอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้แรงงานมนุษย์ในการทำงานร่วมกับเครื่องจักรโดยตรง ทำให้สภาพแวดล้อมของการทำงานมีลักษณะค่อนข้างอันตราย รวมทั้งมีสภาวะการทำงานที่สามารถนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ อาการบาดเจ็บ ความเจ็บป่วยและอาจนำไปสู่การเกิดโรคจากกระบวนการทำงานได้ ซึ่งสาเหตุของอาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะแตกต่างกันไปจากความประมาท การละเลยในการปฏิบัติตามกฎความปลอดภัย การกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือจากการดำเนินงานผิดพลาดจนทำให้เกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บขึ้นมาได้ ตัวอย่างเช่น การทำงานที่สัมผัสกับอุณหภูมิร้อนจัดหรือเย็นจัด การสัมผัสก๊าซพิษสารพิษ หรือ รังสี การลื่นล้ม การสัมผัสกับกระแสไฟฟ้า การถูกชน การถูกวัตถุ หนีบ ทับ หรือกระเด็นเข้าตา และการที่วัตถุตกจากลงมาจากที่สูงหรือบริเวณพื้นต่างระดับ เป็นต้น โดยเหตุการณ์ต่างๆดังกล่าวนี้ เป็นอุบัติเหตุที่ไม่เพียงแต่จะเกิดขึ้นได้เฉพาะกับผู้ที่มีประสบการณ์น้อยในการทำงานด้านอุตสาหกรรมเพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นกับผู้ที่มีประสบการณ์จากการทำงานมานานได้เช่นเดียวกัน

หมวด 1 มาตรฐานด้านความร้อน

  1. ความร้อนภายในสถานที่ประกอบการไม่ควรมีสภาพอุณหภูมิที่สูงจนส่งผลให้อุณหภูมิภายในร่างกายของลูกจ้างมีค่าสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส
  2. นายจ้างควรพิจารณาให้มีการจัดเตรียมเครื่องมือสำหรับป้องกันความร้อนให้แก่ลูกจ้าง รวมทั้งควรจัดหามาตรการที่จะสามารถดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเพื่อลดอุณหภูมิความร้อนได้อย่างทันท่วงที ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ความร้อนภายในสถานประกอบการ มีสภาพอุณหภูมิสูงจนส่งผลให้อุณหภูมิภายในร่างกายของลูกจ้างมีค่าสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส
  3. ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ความร้อนภายในสถานประกอบการ มีสภาพอุณหภูมิสูงจนส่งผลให้อุณหภูมิภายในร่างกายของลูกจ้างมีค่าสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส นายจ้างต้องทำการจัดให้ลูกจ้างได้หยุดพักชั่วคราว เพื่อรักษาตัวให้สภาพร่างกายรวมทั้งอุณหภูมิภายในร่างกายกลับมาคงที่สู่สภาพปกติ
  4. นายจ้างควรปิดป้ายประกาศสำหรับแจ้งเตือนในจุดที่เป็นอันตรายแก่ลูกจ้าง ตัวอย่างเช่น จุดที่เป็นแหล่งกำเนิดความร้อน ที่มีสภาพอุณหภูมิความร้อนสูงจนสามารถส่งผลต่อสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของบุคคล
  5. นายจ้างควรจัดตั้งมาตรการการทำงาน ในกรณีที่ลูกจ้างมีความจำเป็นต้องทำงานในบริเวณใกล้แหล่งกำเนิดความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงเกิน 45 องศาเซลเซียส ให้มีการสวมเครื่องแต่งกายที่รัดกุม สวมถุงมือและรองเท้าตลอดเวลาการดำเนินงานเพื่อสร้างความปลอดภัย และเพื่อป้องกันความร้อนที่สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายของลูกจ้างได้

หมวด 2 มาตรฐานด้านแสงสว่าง

  1. สำหรับงานที่ไม่ต้องใช้ความละเอียดสูงในการดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น การบด การขนย้าย หรือการบรรจุ ควรมีแสงสว่างที่มีค่าความเข้มของแสงมากกว่า 50 Lux
  2. พื้นที่ที่ใช้สำหรับเก็บวัสดุ ตัวอย่างเช่น ห้องเก็บวัสดุ โกดัง รวมทั้งบริเวณเฉลียงและบันไดภายในสถานที่ประกอบการ ควรมีแสงสว่างที่มีค่าความเข้มของแสงมากกว่า 50 Lux
  3. สำหรับงานที่ต้องใช้ความละเอียดเล็กน้อยในการดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น การสีข้าว หรือการผลิตและประกอบชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์อย่างง่าย ควรมีแสงสว่างที่มีค่าความเข้มของแสงมากกว่า 100 Lux
  4. สำหรับงานที่ต้องใช้ความละเอียดปานกลางในการดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น การประกอบชิ้นส่วนภาชนะ การเย็บผ้าหรือการเย็บหนัง ควรมีแสงสว่างที่มีค่าความเข้มของแสงมากกว่า 200 Lux
  5. สำหรับงานที่ต้องใช้ความละเอียดสูงในการดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น การทดสอบและการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ การซ่อมแซมเครื่องจักร หรือการกลึงแต่งโลหะ ควรมีแสงสว่างที่มีค่าความเข้มของแสงมากกว่า 300 Lux
  6. สำหรับงานที่ต้องใช้ความละเอียดสูงมากเป็นพิเศษในการดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น การเย็บผ้าสีมืดทึบ การประกอบชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็ก หรือการเจียระไนเพชร พลอย ควรมีแสงสว่างที่มีค่าความเข้มของแสงมากกว่า 1000 Lux
  7. พื้นที่บริเวณ ทางเดินภายนอกสถานที่ประกอบการ รวมทั้งบริเวณถนน ควรมีแสงสว่างที่มีค่าความเข้มของแสงมากกว่า 20 Lux

หมวด 3 มาตรฐานด้านเสียง

การทำงานของลูกจ้างภายในสถานที่ประกอบการ มีมาตรฐานความปลอดภัยด้านเสียงโดยพิจารณาจากระยะเวลาในการทำงาน ดังต่อไปนี้

  1. สำหรับลูกจ้างที่มีระยะเวลาในการทำงานไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน ระดับเสียงที่ได้รับติดต่อกันต้องมีค่าไม่เกิน 91เดซิเบล
  2. สำหรับลูกจ้างที่มีระยะเวลาในการทำงาน 7-8 ชั่วโมงต่อวัน ระดับเสียงที่ได้รับติดต่อกันต้องมีค่าไม่เกิน 90 เดซิเบล
  3. สำหรับลูกจ้างที่มีระยะเวลาในการทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ระดับเสียงที่ได้รับติดต่อกันต้องมีค่าไม่เกิน 80 เดซิเบล
  4. ภายในสถานที่ประกอบการ ระดับเสียงที่ลูกจ้างได้รับจะต้องมีค่าไม่เกิน 140 เดซิเบล

หมวด 4 มาตรฐานด้านสารเคมีและอนุภาค

  1. การทำงานของลูกจ้างภายในสถานที่ประกอบการ ต้องมีปริมาณความเข้มข้นของสารเคมีในบรรยากาศโดยเฉลี่ยไม่เกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้
  2. การทำงานของลูกจ้างภายในสถานที่ประกอบการ โดยไม่ว่าจะเป็นในระยะเวลาใดของการทำงาน จะต้องมีปริมาณความเข้มข้นของสารเคมีไม่เกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้
  3. การทำงานของลูกจ้างภายในสถานที่ประกอบการ จะต้องไม่อยู่ในบริเวณที่มีปริมาณความเข้มข้นของสารเคมีเกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้
  4. การทำงานของลูกจ้างภายในสถานที่ประกอบการ จะต้องมีปริมาณของฝุ่นและแร่ในบรรยากาศโดยเฉลี่ยเกินไม่เกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้
  5. เครื่องมือและอุปกรณ์ความปลอดภัย

    การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยภายในสถานที่ประกอบการ เป็นมาตรการที่สามารถช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งยังสามารถช่วยลดอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่รุนแรงให้เบาลงได้ โดยในปกติการป้องกันจะเริ่มต้นควบคุมจากสภาวะแวดล้อมภายในสถานที่ประกอบการก่อน

    • หมวกป้องกันศีรษะ ทำมาจากวัสดุที่มีความหลากหลายแตกต่างกัน มีคุณสมบัติแข็งแรงและสามารถป้องกันแรงกระแทกได้ ใช้สำหรับการปฏิบัติงานในงานโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภท เพื่อป้องกันศีรษะจากการถูกชน กระทบหรือกระแทกโดยวัตถุที่ตกมาจากที่สูง
    • อุปกรณ์ป้องกันหู มีคุณสมบัติในการป้องกันหูจากเสียง ที่มีค่าความดังเกินกว่ามาตรฐานที่หูมนุษย์สามารถรับได้ ใช้สำหรับการทำงานกับเครื่องจักรกล ตัวอย่างเช่นเครื่องเจาะปูน เครื่องจักรกลอัตโนมัติ เครื่องถลุงเหล็ก และเครื่องปาดคอนกรีตที่มีขนาดใหญ่ เป็นต้น รวมทั้งใช้สำหรับการทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆที่ควรระมัดระวังเรื่องเสียงเป็นพิเศษ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมก่อสร้าง
    • แว่นนิรภัย วัสดุที่ใช้ทำขึ้นจากกระจกนิรภัยหรือพลาสติก มีคุณสมบัติในการป้องกันสารเคมีและวัสดุแปลกปลอมกระเด็นเข้าดวงตาในขณะที่กำลังปฏิบัติงาน ซึ่งอาจส่งผลเสียแก่ดวงตาอย่างรุนแรงจนถึงขั้นตาบอดได้ แว่นตานิรภัยจึงได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในวงการอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ งานอุตสาหกรรมงานเครื่องมือ เครื่องจักรกล งานไม้ งานเชื่อมไฟฟ้า หรืองานเชื่อมแก็ส เป็นต้น
    • ชุดป้องกันสารเคมี มีคุณสมบัติในการป้องกันร่างกายส่วนต่างๆของผู้ปฏิบัติงานจากความเป็นกรด สำหรับในกรณีที่ต้องดำเนินงานในพื้นที่ที่มีค่าความเป็นกรดสูง โดยการสวมใส่ชุดป้องกันสารเคมีดังกล่าวได้ถูกแบ่งระดับความรุนแรงของสารเคมีไว้ตามเกณฑ์ที่ถูกกำหนดจากสำนักบริหารการป้องสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ระดับความรุนแรงตั้งแต่ขั้น A B C และ D
    • หน้ากากกรองฝุ่นละออง มีคุณสมบัติในการป้องกันลมหายใจของผู้ปฏิบัติงานจากฝุ่นละอองที่สามารถก่อให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพได้ โดยหน้ากากกรองฝุ่นละอองมีคุณภาพต่างกันไปตามชนิดของไส้กรอง ผู้ปฏิบัติงานสามารถเลือกนำไปใช้ให้เหมาะสมกับงานได้หลากหลายประเภท ตัวอย่างเช่น ใช้สำหรับการกรอง ควัน ฝุ่น ฟูมโลหะ หรือการกรองก๊าซไอระเหยที่แขวนในอากาศ เป็นต้น
    • ถุงมือนิรภัย ทำขึ้นมาจากวัสดุหนังต่างๆ ได้แก่ หนังวัว หนังกวาง หนังหมู และหนังแพะ มีคุณสมบัติในการป้องกันผิวหนังบริเวณมือขณะปฏิบัติงานจากการบาดคม ความร้อน การเสียดสี ความสกปรก และการกระแทกสะเก็ดไฟ โดยถุงมือนิรภัยมีให้เลือกใช้ได้หลายประเภทแตกต่างกันไปตามรูปแบบของการทำงาน ตัวอย่างเช่น ถุงมือป้องกันงานเย็น ถุงมือป้องกันงานเชื่อม ถุงมือป้องกันงานเลื่อยด้วยมือ ถุงมือป้องกันงานเครื่องจักร และถุงมือป้องกันทั่วไป เป็นต้น
    • รองเท้านิรภัย วัสดุที่ใช้ประกอบด้วยโครงเหล็ก มีคุณสมบัติในป้องกันอันตรายที่เกิดจากกระแสไฟฟ้า ป้องกันเท้าจากแรงบีบอัดและแรงกระแทกจากวัตถุที่อาจตกลงมากระแทกได้ในระหว่างปฏิบัติงาน อีกทั้งพื้นรองเท้านิรภัยยังทำขึ้นจากวัสดุที่มีคุณสมบัติในการป้องกันกรดและน้ำมัน ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ปฏิบัติงานได้
    • หน้ากากเชื่อม มีคุณสมบัติในการป้องกันอันตรายแก่ผู้ปฏิบัติงานจากควัน และแสงที่เกิดขึ้นจากการเชื่อมไฟฟ้า ได้แก่ การเชื่อมไฟฟ้าแบบปรับแสงได้ และการเชื่อมไฟฟ้าแบบธรรมดา
    • กระบังหน้า มีคุณสมบัติในการป้องกันใบหน้าในขณะปฏิบัติงาน จากเศษโลหะและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ
    • เข็มขัดนิรภัย ทำขึ้นจากวัสดุที่มีความอ่อนนุ่ม มีคุณสมบัติในการป้องกันอันตรายและช่วยเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ปฏิบัติงานสำหรับการทำงานในบริเวณที่มีความสูง โดยจะต้องทำการติดตั้งและเกี่ยวยึดสายรัดลำตัวเข้ากับสายช่วยชีวิตเพื่อช่วยในการเฉลี่ยแรงกระชากที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้

    หลักการเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล

    1. ควรเลือกใช้อุปกรณ์ที่สามารถป้องกันอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    2. ควรเลือกใช้อุปกรณ์ที่สามารถใช้งานได้ง่าย สะดวกและสวมใส่สบาย
    3. ควรเลือกใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพ สามารถป้องกันอันตรายแก่ผู้ใช้งานได้
    4. ควรเลือกใช้อุปกรณ์ที่หาซื้อได้ง่ายและมีราคาย่อมเยา
    5. ควรเลือกใช้อุปกรณ์ที่มีวิธีการใช้ไม่ซับซ้อนเกินไป จนอาจก่อให้เกิดความยุ่งยากและความผิดพลาด
    6. ควรเลือกใช้อุปกรณ์ที่สีสามารถมองเห็นได้ง่าย และดูสะอาดตา

    ประโยชน์ในการใช้อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลในโรงงาน

    1. เป็นประโยชน์ในการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงาน
    2. เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการในการลดต้นทุนการผลิต
    3. เป็นประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ปฏิบัติงานระหว่างการทำงาน
    4. เป็นประโยชน์ในการช่วยลดระยะเวลาที่ใช้สำหรับผลิตสินค้า
    5. เป็นประโยชน์ในการเพิ่มความมั่นใจและความปลอดภัยระหว่างการทำงานแก่ผู้ปฏิบัติงาน
    6. เป็นประโยชน์ในการเพิ่มปริมาณผลผลิต

    ประโยชน์ที่ได้รับจากการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย

    1. ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ถ้าหากผู้ปฏิบัติงานมีความมั่นใจในความปลอดภัยระหว่างการทำงาน ด้วยการใช้อุปกรณ์และสถานที่ที่มีประสิทธิภาพ จะสามารถลดความวิตกกังวลและความรู้สึกไม่ปลอดภัยลงได้ ส่งผลให้การดำเนินงานเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว มีคุณภาพ รวมทั้งสามารถเพิ่มผลผลิตโดยรวมได้มากยิ่งขึ้น
    2. ต้นทุนการผลิตลดลง ในกรณีที่ผู้ปฏิบัติงานมีความปลอดภัยในการทำงานสูง นอกจากจะสามารถลดการเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียในการผลิตลงได้แล้ว ผู้ประกอบการยังไม่จำเป็นต้องเพิ่มต้นทุนให้กับค่าใช้จ่ายสำหรับอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนโดยรวมที่ใช้สำหรับการผลิตลดลง
    3. กำไรเพิ่มขึ้น เมื่อการดำเนินงานสามารถดำเนินไปได้อย่างปลอดภัย ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของผลผลิตและการลดลงของต้นทุนโดยรวม ทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสสร้างกำไรได้มากยิ่งขึ้นในตลาด
    4. เป็นปัจจัยจูงใจ ถ้าหากระหว่างการดำเนินงาน ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานได้ด้วยความมั่นใจในความปลอดภัยของอุปกรณ์และเครื่องมือ จะส่งผลให้บุคคลเกิดความพร้อมในการทำงาน รวมทั้งมีแรงจูงใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น
    5. การรักษาทรัพยากรบุคคล การเกิดอุบัติเหตุและความผิดพลาดระหว่างการปฏิบัติงาน ที่อาจนำมาซึ่ง

    ความสูญเสียทั้งทางร่างกายและทรัพย์สินของผู้ปฏิบัติงาน เป็นเหตุผลหนึ่งที่ส่งผลให้ทรัพยากรโดยรวมของชาติสูญเสียไปด้วย การสร้างความปลอดภัยในการทำงานจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสังคมโดยรวม

    ประโยชน์ที่ได้รับจากการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย นอกจากจะสามารถช่วยเพิ่มผลผลิต เพิ่มกำไร และลดต้นทุนการผลิตลงให้กับผู้ประกอบการได้แล้ว การปฏิบัติงานโดยการใช้อุปกรณ์และสถานที่ที่มีความปลอดภัย ยังเป็นปัจจัยจูงใจที่สามารถสร้างความมั่นใจในการทำงานให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งสามารถรักษาทรัพยากรมนุษย์โดยรวมได้เช่นกัน

หลักความปลอดภัยภายในโรงงาน

โรงงานอุตสาหกรรมไม่ว่าที่ใดก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วมักจะมีเครื่องจักรที่เป็นอันตรายอยู่ บางครั้งอาจจะมีสารเคมี บางครั้งอาจจะมีความมีคมทำให้ได้รับบาดเจ็บได้ หรือบางครั้งอาจจะมีอันตรายจนถึงชีวิต และในโรงงานส่วนใหญ่ก็จะมีคน หรือแรงงานที่ทำงานอยู่ในนั้นด้วย ดังนั้นเมื่อชีวิตต้องอยู่ในความเสี่ยง จึงต้องมีหลักความปลอดภัยขึ้นในโรงงาน เพื่อที่จะป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับคนที่อยู่ในบริเวณโรงงานนั้นๆ ซึ่งในแต่ละโรงงานก็จะมีการใช้มาตรการความปลอดภัยที่แตกต่างกันออกไป แต่ที่ได้รับความนิยม และความครอบคลุมมากที่สุดนั่นก็คือ หลักความปลอดภัย 3 โดยจะเอามาใช้ในการสร้างความปลอดภัยในโรงงาน โดยในบทความนี้เราจะแบ่งหลักความปลอดภัยออกเป็น 4 หลักการด้วยกัน ดังนี้

  1. หลักการสร้างความรับผิดชอบ ซึ่งในการสร้างความรับผิดชอบนี้ไม่เพียงแค่ตัวพนักงานเท่านั้น เพราะเจ้าของโรงงาน รวมไปถึงวิศวกรเองก็ต้องมีความรับผิดชอบมากๆ ด้วย เพราะถือว่าทั้งสองนั้นมีความรู้ รวมถึงทราบส่วนต่างๆ ของโรงงานดีกว่าพนักงานอยู่แล้ว ฉะนั้นแล้วเจ้าของโรงงานเองจะต้องมีความรับผิดชอบในเรื่องของการจัดการหาอุปกรณ์เซฟตี้ต่างๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการ รวมทั้งดำเนินการรักษาความปลอดภัยตามกฎหมายข้อบังคับเกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัดด้วย ในส่วนของวิศวกรนั้น อาจจะมีหลายแผนก ทั้งด้านรักษาความปลอดภัย ทั้งด้านเครื่องจักรต่างๆ ซึ่งแต่ละฝ่ายเองจะต้องทำตามหน้าที่ของตัวเองอย่างเคร่งครัด ตรวจสอบ ควบคุม แก้ไขส่วนต่างอย่างรอบคอบมากที่สุด เพราะถ้าพลาดเมื่อไร อาจจะมีการสูญเสียถึงชีวิตได้ และที่สำคัญไม่แพ้กันคือผู้ปฏิบัติงาน หรือพนักงานเองก็จะต้องปฏิบัติงานอย่างไม่ประมาท มีความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานอย่างดี หากต้องทำงานกับเครื่องจักรก็ควรทราบการทำงานอย่างละเอียด เพื่อที่จะได้ปลอดภัยในขณะใช้งาน หรือหากมันมีความขัดข้องเกิดขึ้น จะได้ทราบอย่างทันท่วงที
  2. หลักการความไม่ประมาท อย่างที่เรากล่าวไปว่าทุกๆ ฝ่าย จะต้องปฏิบัติตามหลักความปลอดภัยไปด้วยกัน ในเรื่องความประมาทก็เช่นกัน ทุกคนที่ทำหน้าที่ในโรงงานต่างก็มีความสำคัญด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้นควรปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไม่ประมาท สุขภาพร่างกายจะต้องพร้อม รวมไปจนถึงสภาพจิตใจด้วย จะต้องมีสติอยู่เสมอขณะที่ทำงาน พร้อมทั้งไม่ฝ่าฝืนกฎระเบียบต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้
  3. หลักของความสะอาด ความสะอาดภายในโรงงานจะส่งผลต่อสุขภาพ ของคนภายในโรงงานเช่นกัน ดังนั้นจะโรงงานจะต้องมีการทำความสะอาดอยู่บ่อยครั้ง เพราะเมื่อไรที่ภายในโรงงานสกปรก ก็จะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคได้อย่างดีทีเดียว จะส่งผลต่อสุขภาพของพนักงานจากนั้นงานในโรงงานเองก็จะได้รับผลเสียตามมา
  4. หลัก 3 E คือหลักการที่เราได้พูดถึงในข้างต้นว่ามีการนำไปใช้อยู่บ่อยๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้
  • E ตัวแรกคือEngineering หรือวิศวกรรมศาสตร์ เป็นการใช้ความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในการดูแล คำนวณ หรือออกแบบเครื่องจักร ให้มีสภาพการใช้งานที่ปลอดภัยมากที่สุด
  • E ตัวที่สอง คือEducation หรือการศึกษา หมายถึงการให้ความรู้ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโรงงาน เกี่ยวกับความปลอดภัยต่างๆ เพื่อที่จะสร้างความปลอดภัย รวมถึงช่วยลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น และพร้อมที่จะรับมือหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงๆ
  • E ตัวสุดท้าย คือEnforcement หรือการออกกฎข้อบังคับ เป็นการกำหนดมาตรการอย่างรอบคอบ ให้คนในโรงงานปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยทุกคนจะต้องทำตามหากมีใครฝ่าฝืนอาจจะต้องวิธีในการลงโทษตามความเหมาะสม

เลขานุการผู้บริหาร

เลขานุการผู้บริหาร
จำนวน 1 ตำแหน่ง

 

รายละเอียด
ดูแลรับผิดชอบงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการธุรกิจใหม่ และโครงการขยายการลงทุนของธุรกิจปัจจุบัน และเข้าร่วมเป็นตัวแทนคณะทำงานเฉพาะกิจของโครงการต่างๆ

 

คุณสมบัติ
  1. เพศชาย / หญิง อายุ 35 ปีขึ้นไป
  2. จบวุฒิการศึกษาปริญญาตรี-โท สาขาเศรษฐศาสตร์, บริหารธุรกิจ หรือที่เกี่ยวข้อง
  3. มีประสบการณ์ด้านการแสวงหาธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพ / การแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจ อย่างน้อย 5 ปี
  4. มีความเป็นผู้นำ, มีความคิดเชิงกลยุทธ์
  5. สามารถพูด เขียน อ่าน ภาษาอังกฤษได้ดี
สวัสดิการ
– เบี้ยขยัน 400 – 600 บาท/เดือน – ประกันอุบัติเหตุกลุ่ม – ค่ารักษาพยาบาล
– รถรับ – ส่ง พนักงาน – ชุดยูนิฟอร์มบริษัท – เงินสวัสดิการฌาปนกิจ
– กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ – สหกรณ์ออมทรัพย์ – กีฬาสีภายใน
– เงินโบนัสประจำปี – ปรับเงินเดือนประจำปี – งานเลี้ยงวันเกิดพนักงาน
– ทุนการศึกษาบุตรพนักงานที่เรียนดี – เลี้ยงสังสรรค์ประจำปี

Quality Assurance Manager

Quality Assurance Manager
จำนวน 1 ตำแหน่ง

 

รายละเอียด
ดูแลรับผิดชอบงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการธุรกิจใหม่ และโครงการขยายการลงทุนของธุรกิจปัจจุบัน และเข้าร่วมเป็นตัวแทนคณะทำงานเฉพาะกิจของโครงการต่างๆ

 

คุณสมบัติ
  1. เพศชาย / หญิง อายุ 35 ปีขึ้นไป
  2. จบวุฒิการศึกษาปริญญาตรี-โท สาขาเศรษฐศาสตร์, บริหารธุรกิจ หรือที่เกี่ยวข้อง
  3. มีประสบการณ์ด้านการแสวงหาธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพ / การแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจ อย่างน้อย 5 ปี
  4. มีความเป็นผู้นำ, มีความคิดเชิงกลยุทธ์
  5. สามารถพูด เขียน อ่าน ภาษาอังกฤษได้ดี
สวัสดิการ
– เบี้ยขยัน 400 – 600 บาท/เดือน – ประกันอุบัติเหตุกลุ่ม – ค่ารักษาพยาบาล
– รถรับ – ส่ง พนักงาน – ชุดยูนิฟอร์มบริษัท – เงินสวัสดิการฌาปนกิจ
– กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ – สหกรณ์ออมทรัพย์ – กีฬาสีภายใน
– เงินโบนัสประจำปี – ปรับเงินเดือนประจำปี – งานเลี้ยงวันเกิดพนักงาน
– ทุนการศึกษาบุตรพนักงานที่เรียนดี – เลี้ยงสังสรรค์ประจำปี

เจ้าหน้าที่บัญชีบริหาร

เจ้าหน้าที่บัญชีบริหาร
จำนวน 1 ตำแหน่ง

 

รายละเอียด
ดูแลรับผิดชอบงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการธุรกิจใหม่ และโครงการขยายการลงทุนของธุรกิจปัจจุบัน และเข้าร่วมเป็นตัวแทนคณะทำงานเฉพาะกิจของโครงการต่างๆ

 

คุณสมบัติ
  1. เพศชาย / หญิง อายุ 35 ปีขึ้นไป
  2. จบวุฒิการศึกษาปริญญาตรี-โท สาขาเศรษฐศาสตร์, บริหารธุรกิจ หรือที่เกี่ยวข้อง
  3. มีประสบการณ์ด้านการแสวงหาธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพ / การแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจ อย่างน้อย 5 ปี
  4. มีความเป็นผู้นำ, มีความคิดเชิงกลยุทธ์
  5. สามารถพูด เขียน อ่าน ภาษาอังกฤษได้ดี
สวัสดิการ
– เบี้ยขยัน 400 – 600 บาท/เดือน – ประกันอุบัติเหตุกลุ่ม – ค่ารักษาพยาบาล
– รถรับ – ส่ง พนักงาน – ชุดยูนิฟอร์มบริษัท – เงินสวัสดิการฌาปนกิจ
– กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ – สหกรณ์ออมทรัพย์ – กีฬาสีภายใน
– เงินโบนัสประจำปี – ปรับเงินเดือนประจำปี – งานเลี้ยงวันเกิดพนักงาน
– ทุนการศึกษาบุตรพนักงานที่เรียนดี – เลี้ยงสังสรรค์ประจำปี

เจ้าหน้าที่แรงงานสัมพันธ์ / Employee Relation Officer

เจ้าหน้าที่แรงงานสัมพันธ์ / Employee Relation Officer
จำนวน 1 ตำแหน่ง

 

รายละเอียด
ดูแลรับผิดชอบงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการธุรกิจใหม่ และโครงการขยายการลงทุนของธุรกิจปัจจุบัน และเข้าร่วมเป็นตัวแทนคณะทำงานเฉพาะกิจของโครงการต่างๆ

 

คุณสมบัติ
  1. เพศชาย / หญิง อายุ 35 ปีขึ้นไป
  2. จบวุฒิการศึกษาปริญญาตรี-โท สาขาเศรษฐศาสตร์, บริหารธุรกิจ หรือที่เกี่ยวข้อง
  3. มีประสบการณ์ด้านการแสวงหาธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพ / การแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจ อย่างน้อย 5 ปี
  4. มีความเป็นผู้นำ, มีความคิดเชิงกลยุทธ์
  5. สามารถพูด เขียน อ่าน ภาษาอังกฤษได้ดี
สวัสดิการ
– เบี้ยขยัน 400 – 600 บาท/เดือน – ประกันอุบัติเหตุกลุ่ม – ค่ารักษาพยาบาล
– รถรับ – ส่ง พนักงาน – ชุดยูนิฟอร์มบริษัท – เงินสวัสดิการฌาปนกิจ
– กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ – สหกรณ์ออมทรัพย์ – กีฬาสีภายใน
– เงินโบนัสประจำปี – ปรับเงินเดือนประจำปี – งานเลี้ยงวันเกิดพนักงาน
– ทุนการศึกษาบุตรพนักงานที่เรียนดี – เลี้ยงสังสรรค์ประจำปี